Blog

โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoid)

ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoid) คือ ภาวะที่หลอดเลือดดำบริเวณปลายสุดของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีการโป่งพอง บวม และยื่นออกมา ซึ่งสามารถเป็นพร้อมกันหลายตำแหน่ง แบ่งได้ 2 ชนิด คือ

1. ริดสีดวงทวารหนักภายใน (Internal Hemorrhoid) อยู่ในตำแหน่งเหนือทวารหนักขึ้นไป โดยหลอดเลือดที่โป่งพองอาจจะไม่โผล่ออกมาให้เห็น และไม่สามารถคลำได้ หรืออาจมีขนาดใหญ่และสามารถคลำได้ หรือมีขนาดใหญ่จนต้องดันกลับเข้าไปในทวารหนักภายหลังการอุจจาระ

โรคริดสีดวงทวารหนักภายใน สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ

• ระยะที่ 1 มีหัวริดสีดวง แต่ไม่ยื่นออกมาทางทวารหนัก อาจมีเลือดสด ๆ ขณะถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ
• ระยะที่ 2 ริดสีดวงโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่าย และเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนักได้เองหลังถ่ายอุจจาระ
• ระยะที่ 3 ริดสีดวงยื่นโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่าย และต้องใช้มือดันกลับเข้าไปในทวารหนัก
• ระยะที่ 4 ริดสีดวงยื่นออกนอกทวารหนักตลอดเวลา อาจรู้สึกปวด

2. ริดสีดวงทวารหนักภายนอก (External Hemorrhoid) จะเกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นทวารหนัก จากการที่กลุ่มหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังปากทวารหนักโป่งพอง สามารถมองเห็นและคลำได้ หากมีอาการอาจเกิดความเจ็บปวดได้ เพราะผิวหนังที่ปกคลุมมีปลายประสาทรับความรู้สึก

สาเหตุของริดสีดวงทวาร

• อาชีพ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนนาน ๆ จะมีผลให้ความดันเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณปากทวารไหลกลับสู่หลอดเลือดดำในช่องท้องช้าลง โดยทั่วไปหลอดเลือดดำมีลิ้นเพื่อให้เลือดดำไหลกลับได้ทางเดียวแต่เมื่อการไหลของเลือดดำช้าลงประกอบกับมีความดันในช่องท้องสูงจึงเกิดการคั่งของหลอดเลือดดำบริเวณกลุ่มหลอดเลือดปากรูทวารหนักส่งผลให้กลุ่มหลอดเลือดดำโป่งพองจนเกิดอาการของโรค
• เกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ เช่น โรคตับแข็ง ซึ่งจะมีอาการท้องมานในระยะสุดท้าย และเมื่อมีน้ำในช่องท้องมาก ๆ จะส่งผลไปกดการไหลเวียนเลือดในช่องท้องเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดดำไหลกลับเข้าช่องท้องได้ไม่ดีนัก
• ปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่า ยีน FOXC2 gene บนโครโมโซมคู่ที่ 16 อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดของโรคและเส้นเลือดขอดที่ขา

อาการของริดสีดวงทวารหนัก

• มีเลือดแดงสดหยดออกมา หรือพุ่งออกมาขณะเบ่งถ่าย หรือหลังถ่ายอุจจาระ อาจไม่มีอาการปวด หรือแสบทวารหนัก หรืออาจพบเลือดบนกระดาษชำระ เลือดที่ออกจะไม่ปนกับอุจจาระไม่มีมูกและมักหยุดได้เอง อาการเหล่านี้มักเป็น ๆ หาย ๆ
• มีก้อนเนื้อนิ่ม ยื่นโผล่ออกมานอกทวารหนัก
• ทวารหนักเปียกแฉะ คันรอบ ๆ ปากทวารหนัก
• คลำพบก้อนที่บริเวณทวารหนัก
• ปวดบริเวณทวารหนัก โดยเฉพาะเวลาถ่ายอุจจาระ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก

• ท้องผูกเรื้อรัง
• ท้องเสียบ่อย
• ถ่ายอุจจาระบ่อย
• นั่งถ่ายอุจจาระนาน
• เบ่งแรงขณะขับถ่าย
• ใช้ยาระบาย ยาสวนอุจจาระบ่อยโดยไม่จำเป็น
• อายุมาก กล้ามเนื้อหย่อนยาน
• ตั้งครรภ์ ขับถ่ายไม่สะดวก
• ไอเรื้อรัง
• น้ำหนักมาก
• ยกของหนัก ออกแรงมาก
• โรคตับแข็ง ส่งผลถึงเส้นเลือดดำบริเวณทวารโป่งพอง
• กรรมพันธุ์ มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้

แนวทางการรักษาริดสีดวงทวาร

• ระวังอย่าให้ท้องผูก ควรดื่มน้ำและรับประทานผักผลไม้มาก ๆ กรณียังมีอาการท้องผูก ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
• ถ้าปวดมากเนื่องจากมีการอักเสบ ให้กินยาแก้ปวด นั่งแช่ในน้ำอุ่นจัด ๆ วันละ 2 – 3 ครั้ง ๆ ละ 15 – 30 นาที และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวารจนอาการบรรเทาปกติใช้เวลาประมาณ 7 – 10 วัน หากยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
• ถ้าผู้ป่วยมีอาการซีด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
• ถ้าหัวริดสีดวงหลุดออกข้างนอกให้ใส่ถุงมือใช้ปลายนิ้วชุบสบู่ให้หล่อลื่นแล้วดันหัวกลับเข้าไป ถ้าไม่ได้ผลแนะนำให้ไปโรงพยาบาล
• ถ้ามีเลือดออก หรือสงสัยมีโรคอื่นร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะอาจเป็นมะเร็งลำไส้ตรง มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายได้